ประวัติความเป็นมา อบจ.น่าน
ประเทศไทยได้ใช้แนวคิดในการจัดระเบียบการบริหารการแผ่นดิน รวม 3 หลักการได้แก่ หลักการรวมอำนาจ (Centralization) หลักการแบ่งอำนาจ (Deconcentration) และหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) จากหลักการดังกล่าวทำให้มีการจัดระเบียบ บริหารราชการแผ่นดิน ออกเป็น 3 ส่วน คือ ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง และกรม ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัด และอำเภอ ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์กร บริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งมีพัฒนาการความเป็นมา ภายใต้กระแสการเมืองและการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย เริ่มต้นแต่ได้มีพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ในกฎหมายดังกล่าวได้มีการจัดตั้ง "สภาจังหวัด" โดยกำหนดให้ประชาชน เลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาจังหวัด ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 แยกออกมาจากกฎหมายเทศบาลมีหน้าที่เป็น“สภาที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด” เช่นเดิม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วปรากฏว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มิได้ปรึกษาหารือสภาจังหวัดแต่ประการใดจนกระทั่งได้มีพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ให้มีการจัดตั้ง “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” ขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนิน กิจการส่วนจังหวัดภายในเขต จังหวัด ซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาล สุขาภิบาล และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นรูปอื่น โครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารมีหน้าที่บริหารกิจการ ส่วนจังหวัด ตั้งงบประมาณและใช้จ่ายงบประมาณ ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการส่วนจังหวัด มีปลัดจังหวัดเป็น ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นหัวหน้า ส่วนอำเภอหรือหัวหน้าส่วนกิ่งอำเภอ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่อยู่ในส่วนอำเภอหรือ ส่วนกิ่งอำเภอ นั้น และฝ่ายสภาจังหวัด ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วยสมาชิกสภาจังหวัดที่มา จากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละอำเภอ ในแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนแตกต่างกันไปแล้วแต่ จำนวนของราษฎรของแต่ละจังหวัด สภาจังหวัดจะเลือกสมาชิกสภาจังหวัดคนหนึ่งเป็นประธานสภาจังหวัดและอีกคนหนึ่ง เป็นรองประธานสภาจังหวัดทำหน้าที่นัดประชุมเป็นประธานที่ประชุมและเป็นผู้แทนของสภาจังหวัดในกิจการภายนอกสภาจังหวัดมีหน้าที่ในการตราข้อบัญญัติจังหวัดทั่วไปและข้อบัญญัติงบประมาณ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ตั้งขอสอบถามการทำงานของ ส่วนภูมิภาคต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหัวหน้าราชการส่วนภูมิภาคไปชี้แจงข้อเท็จจริง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ได้ให้หัวหน้าส่วนราชการภูมิภาค ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น เสมียนตราจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ซึ่งเป็น ข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย เข้าไปเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดของทุกระดับเป็นการ “สวมหมวก 2 ใบ” ดำรงตำแหน่งในราชการส่วนภูมิภาค และในราชการส่วนท้องถิ่นในขณะเดียวกัน เพื่อต้องการให้ ข้าราชการที่ส่งมาจากส่วนกลางทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลื่อให้คำปรึกษาแก่คนท้องถิ่นดูเป็นตัวอย่าง อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อประหยัดงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพราะไม่ต้องจ่ายเงินเดือนให้กับฝ่ายบริหาร หากมีฝ่ายบริหารที่ต้อง มาจากเลือกตั้ง ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดในยุคนี้มีลักษณะเป็นการปกครองแบบ “กึ่งท้องถิ่นภูมิภาค” มากกว่า “การปกครองส่วนท้องถิ่น”
ปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นไปตาม พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 รูปโฉมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงได้เปลี่ยนไป มีลักษณะเป็น “การปกครองส่วนท้องถิ่น” ตามหลักการกระจายอำนาจ การปกครองมากขึ้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็คือ ในเขตพื้นที่ของจังหวัด ซึ่งรวมทั้งใน เขตสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และในกรณีของจังหวัดชลบุรีก็รวมพื้นที่ของเมืองพัทยาด้วย อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์การ บริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงและในพระราชบัญญัติ กำหนด แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 17 ซึ่งมีทั้งสิ้น 29 ประการที่สำคัญ อาทิเช่น การจัดการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยว การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดตั้งและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียรวมการกำจัดขยะมูลฝอยและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นเป็นต้น ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ที่ดำเนินการในภาพรวมทั้งอำเภอหรือทั้งจังหวัด และเกินศักยภาพขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
สำหรับโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
- ฝ่ายบริหาร มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่3) พ.ศ.2546 เป็นผู้บริหารงาน ซึ่งเป็นรูปแบบ the direct election and Strong executive form เหมือนกับโครงสร้างของ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้ฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมีความเข้มแข็ง เป็นอิสระในการ กำหนดและการบริหารงานรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรง
- ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนในแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดจะมีจำนวนแตกต่างกันตามจำนวนราษฎรของแต่ละจังหวัด โดยมีตั้งแต่ 24,30,36,42 และ 48 คน
การบริหารการคลังขององค์การบริหารส่วนจังหวัด รายได้หลัก จะมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีค่าธรรมเนียมรถยนต์และล้อเลื่อน ภาษีบำรุง องค์การบริหารส่วนจังหวัดจากสภาร้านค้าปลีกยาสูบ ภาษีบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากสถานค้าปลีกน้ำมัน ค่าธรรมเนียมผู้พักโรงแรม เงินอุดหนุน จากรัฐบาล เป็นต้น ละการจะนำรายได้ดังกล่าวไปใช้ จ่ายจะต้องจัดเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมการกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็เหมือนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติและประกาศใช้ ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.จ) ซึ่งเป็นองค์กรด้านบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในระดับ จังหวัด สั่งให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดออกจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือ มีลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ คำสั่งยุบต้องแสดงเหตุผลและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น
เดิมองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านปฏิบัติงานอยู่ ณ อาคารศาลากลางจังหวัดน่าน (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน) ในปี พ.ศ. 2511 ย้ายไปอยู่ ณ อาคารสองชั้นด้านหลัง อาคารศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน
พ.ศ. 2534 ได้ดำเนินการก่อสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านหลังใหม่ ณ ด้านทิศตะวันตกของอาคารศาลากลางจังหวัดน่าน และย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ ณ อาคารแห่งใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2554
พ.ศ. 2550 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านแห่งใหม่ ณ บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดน่าน เพื่อให้สอดคล้องตามแผนการย้ายอาคารสำนักงานของส่วนราชการต่างๆ ที่ตั้งอยู่ภายในที่กำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์เมืองเก่าบริเวณใจเมืองน่าน เพื่อให้สามารถรองรับการขยายงานและภารกิจของส่วนราชการภายในองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อย่างสมบูรณ์ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อมากที่สุด โดยได้ย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดน่าน ตั้งแต่ 27 ตุลาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน |